สามก๊ก บังคับให้ฮ่องเต้สละราชบัลลังก์
ปรัชญาเต๋าเหลาจื้อ
๑ - มนุษย์มักชื่นชมความงามภายนอกซึ่งเป็นของหลอกตา
- สิ่งที่ตรงข้ามกัน ล้วนมีความสัมพันธ์คล้ายร่างกับเงาที่แยกกันไม่ออก
๒ - คนชอบอวดตน มักผจญความเดือดร้อน
- เข็มแหลมคม มักรักษาความแหลมคมไม่ได้ตลอดไป เพราะถูกใช้งานมาก
- คนมั่งคั่งมีเงินล้นเคหา ไม่ใช่จะรักษาสมบัติได้ตลอดไปเช่นกัน
- คนชอบอวดมั่งอวดมี เหมือนดั่งชอบหาเรื่องใส่ตน
- คนฉลาดย่อมไม่หลงใหลในชื่อเสียงหวลหอม ควรถ่อมตนและรีบหลีกจากวังวนที่ชวนให้ลุ่มหลง จะ ส่งผลให้บรรลุถึงธรรม
๓ - รูปรสกลิ่นเสียง มักทำให้คนลุ่มหลง ความเพลิดเพลินมากไป มักทำให้จิตใจเสื่อมทราม ความมีสมบัติล้ำค่านัก มักทำให้ต้องตกอยู่อย่างหวาดภัย
๔ - ควรวางใจให้ผู้มีความเสียสละและมีเมตตาธรรม เป็นผู้นำในการบริหารบ้านเมือง
๕ - การปรับตัวตามสถานการณ์ได้ ย่อมทำให้ดำรงอยู่ได้
-น้ำอยู่ในแอ่งต่ำจึงรับน้ำจากที่อื่นได้มาก
- คนฉลาดจริงๆมักไม่อวดฉลาด
- คนเด่นที่สุดคือคนที่ไม่อวดเด่น
- ผู้มีผลงานมากที่สุดมักไม่คุยเขื่อง
- ผู้คนมักนับถือศรัทธาคนที่ไม่หยิ่งจองหอง
- การผ่อนปรนมักช่วยลดความขัดแย้ง ให้หายไปได้
๖ - การประหยัดถ้อยคำเป็นรากฐานของผู้ใฝ่ประพฤติธรรม
- พายุกล้าย่อมไม่อาจพัดต่อเนื่องได้นานทั้งอรุณพิรุณแรงย่อมไม่อาจตกกระหน่ำได้ทั้งทิวา
- ฟ้าดินบันดาลให้ฝนตกได้ แต่ก็ไม่อาจทำได่เนิ่นนาน ไฉนเลย ปุถุชนจะทำได้?
๗ - คนเก่งมักไม่ทิ้งร่องรอยหรือพิรุธให้จับได้
- คนคิดคำนวญเก่ง ไม่ต้องใช้เครื่องคิดเลขก็คำนวญได้แม่นยำ
- คนรอบคอบมักไม่พบภยันตรายใดๆ
๘ - ที่ใดเป็นสมรภูมิรบมักประสบความวิบัติหายนะทั้งในยามศึกสงครามหรือกระทั่งสงครามสิ้นสุดไปแล้วก็ยังมีแต่ความลำเค็ญไปอีกเนิ่นนานหลายปี
๙ - คนอ่อนโยนมักปราบคนกระด้างได้สำเร็จ
- มัจฉาต้องอาศัยวารี หากไม่มีน้ำย่อมทำให้ปลาตาย
๑๐ - ท้องฟ้า สุริยัน จันทรา ประสานสามัคคีกัน ย่อมทำให้บรรยากาศสดชื่นแจ่มใส
- สิ่งแวดล้อมที่ดีงาม ย่อมนำความเจริญ รุ่งเรือง มาสู่ทุกสรรพสิ่ง
- ขุนนางผู้มียศศักดิ์ยิ่งใหญ่ ควรใส่ใจในการให้บริการแก่สามัญชน
- ผู้ยิ่งใหญ่กว่าใคร ยิ่งต้องถ่อมตนให้มากที่สุด
- คิดจะสร้างหอสูงใหญ่ ต้องวางรากฐานให้แข็งแกร่ง
๑๑ - ต้าวทรงพลังยิ่งใหญ่โดยธรรมชาติ เป็นแหล่งอำนาจหยินหยางซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรพสิ่งอื่นๆตามมาอย่างไม่สิ้นสุด
๑๒ - ยิ่งอยากได้ ยิ่งต้องให้ไปก่อน
- ยิ่งกอบโกยสะสม ยิ่งอาจล่มจมสูญเสีย
- ความรู้จักพอ ย่อมก่อเกิดความสุข
๑๓ - คนฉลาดมักปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์
- น้ำที่เยือกเย็น ใช้เป็นสิ่งที่ดับความเร่าร้อนได้เสมอ
- พึงยกย่องผู้สมถะและประพฤติธรรม
๑๔ - เคราะห์กรรมมักเกิดจากความไม่รู้จักพอ-ผู้หลงผิดที่สุดคือคนละโมบไม่สิ้นสุด
- ผู้มีความสุขที่สุดคือคนที่รู้จักพอ
๑๕ - ผู้รู้จักรักษาตนย่อมไม่เดินบนเส้นทางอันตราย
- คนฉลาดเอาตัวรอดด้วยการใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ใช้ปัญญาที่เยือกเย็นพิชิตความเร่าร้อนรุนแรง
๑๖ - ช่างผู้ชำนาญย่อมสร้างบ้านที่มั่นคงไม่พังทลายโดยง่าย
- จงใช้ความมีคุณธรรมไปพิจารณาผู้อื่น ใช้ครอบครัวที่มีคุณธรรมไปพิจารณาครอบครัวอื่น ใช้หมู่บ้านที่มีคุณธรรมพิจารณาหมู่บ้านอื่น ใช้บ้านเมืองที่มีคุณธรรมพิจารณาบ้านเมืองอื่น ใช้แผ่นดินในปัจจุบันเปรียบเทียบกับ แผ่นดินในอดีต
- การที่ฉันมีความเข้าใจเรื่องราวทั้งหลาย เพราะฉันรู้จักพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้ง
๑๗ - ใช้ความซื่อตรงธำรงอาณาจักร ใช้ความพลิกแพลงเป็นหลักทำสงคราม
- ใช้คุณธรรมนำการเมือง ไม่ทำเรื่องเดือดร้อนแก่ประชาชน เป็นหลักเบื้องต้นในการปกครองแผ่นดิน
๑๘ - ใช้ความยาวเสริมเติมความสั้น ใช้คุณธรรมสกัดกั้นความชั่วร้าย
- การทำเรื่องยากต้องเริ่มจากเรื่องง่าย การทำเรื่องใหญ่ต้องเริ่มจากเรื่องเล็กๆ
- เรื่องสำคัญยิ่งใหญ่ มักเริ่มไปจากคนสามัญเล็กๆ
-ผู้สูงส่งที่นอบน้อมถ่อมตน ยิ่งมีคนยกย่องบูชา
- ผู้ชอบรับปากพล่อยๆ มักไม่รักษาคำมั่นสัญญา
๑๙ - วางแผนไว้ล่วงหน้า ดีกว่าแก้ปัญหาภายหลัง
- ต้นไม้สูงใหญ่ เกิดจากรากไม้เล็กๆ
- หอสูงตระหง่าน เริ่มจากฐานดินเล็กน้อย
- ทางสุดแสนยาวไกล เริ่มไปจากก้าวแรก
- ทำงานรอบคอบตั้งแต่ต้นจนจบ ย่อมไม่ประสบความล้มเหลว
- ขุนศึกผู้พิชิต มักไม่อวดฤทธิ์เดช
๒๐ - ขุนศึกผู้พิชิต มักคิดวางแผนก่อนออกรบ และไม่ทำศึกด้วยอารมณ์ชอบหรือโกรธ
- ขุนศึกผู้พิชิตไม่คิดทำศึกพร่ำเพรื่อ ต้องเตรียมการล่วงหน้า คอยหาโอกาศเหมาะ จึงลงมือเพื่อพิชิตศึกอย่างรวดเร็ว
๒๑ - คนประมาทดูแคลนศัตรู มักเป็นผู้ปราชัย
- ฝ่ายที่ต้องรบแบบถูกบีบบังคับ มักกลับเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ
๒๒ - สวรรค์รังเกียจอธรรม และทอดตาข่ายแห่งธรรมแผ่ลงมาคลุมทุกสรรพสิ่ง แม้รูตาข่ายจะห่างมากแค่ไหน แต่ไม่มีใครรอดพ้นกฎเกณฑ์แห่งความยุติธรรมไปได้เลยและทุกคนต้อง ชดใช้กฎแห่งกรรมตามที่ตนได้กระทำไว้
๒๓ - หลักของต้าวคือเอาความยาวไปเติมความสั้น และแบ่งปันความเหลือเฟือไปเจือจุนความอดอยาก
๒๔ - การกลบความแค้นในใจของผู้คน โดยไม่สนใจขจัดปัญหารากเหง้าแท้ๆ ย่อมเป็นการแก้ที่ไม่ถูกจุด เพราะลึกสุดในใจของเขา ยังมีความแค้นสุมอยู่
- สวรรค์ไม่มีความลำเอียง ผู้ใฝ่ในการประกอบกุศล ย่อมได้รับผลบุญตอบแทน
๒๕ - คนซื่อสัตว์ไม่ชอบสร้างภาพ คนชอบสร้างภาพย่อมไม่ใช่คนซื่อสัตว์
- คนมีใจกุศลมักไม่อวดตน คนชอบอวดเคร่งศีลธรรม มักประพฤติผิดศีลธรรม
-คนรอบรู้มักไม่โอ้อวด คนชอบอวดรู้มักไม่รู้จริง
- ผู้มีคุณธรรมสูงส่งมักตั้งใจจริงในการสร้างความผาสุขแก่ปวงชน โดยไม่หวังแย่งชิงผลประโยชน์ ไปเป็นของตนเอง
ประพันธ์ โดย คุณเลี่ยวบ้วยลิ้ม (มงคล มหกิจไพศาล) ค.ศ. 2000
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น